เกมส์: Death Stranding Director’s Cut
แพลตฟอร์ม : PlayStation 5
ราคา: 1,690 บาท
วันวางจำหน่าย:24 กันยายน 2021
เป็นเวลาเกือบ 2 ปีหลังเกม Death Stranding ผลงานของเฮียฮิเดโอะ โคจิมะวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อพฤศจิกายน 2019 ด้วยความที่มันเป็นเกมแนวใหม่นี้ทำให้เสียงวิจารณ์แตกออกเป็นสองฝั่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบแต่ท้ายสุดเกมก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และด้วยการมาถึงของ PlayStation 5 จึงเป็นที่มาของวลี “Director’s Cut” ถูกนำมาใช้ต่อท้ายกับเกม PS4 หลายเกมที่ถูกนำมาต่อยอดปรับปรุงประสิทธิภาพและใส่คอนเทนต์เพิ่มมาใหม่ Death Stranding Director’s Cut เป็นอีกหนึ่งเกมที่ตกอยู่ในหมวดหมู่นี้มีการนำเสนอภารกิจใหม่ พื้นที่ใหม่ และอุปกรณ์ช่วยขนส่งใหม่ ๆ มันจะคุ้มค่าไหม? เรียนเชิญอ่านรีวิวเกม Death Stranding Director’s Cut กันเลย
เนื้อเรื่อง
สำหรับตัวเนื้อเรื่องหลักของเกมผมจะไม่พูดถึงแล้วกันนะครับ สามารถคลิกอ่านรีวิวเกม Death Stranding (PS4) ได้ที่นี่ เรามาพูดถึง Death Stranding Director’s Cut กันดีกว่าซึ่งจะเรียกว่าเป็นเนื้อเรื่องเสริมสั้น ๆ ของภารกิจที่ทางทีมงานใส่เข้ามาก็ได้ โดยเนื้อเรื่องดังกล่าวมีความสอดคล้องเพื่อเป็นการปรุงรสแก่เนื้อเรื่องหลักให้กลมกล่อมขึ้นเสียมากกว่า ภารกิจเสริมนี้เหมาะสำหรับคนที่เล่นเนื้อเรื่องหลักของเกมจบแล้วเพราะมันจะเป็นการเล่าเรื่องราวที่มาของหนึ่งในตัวละครหลักของเกม ฟังดูน่าตื่นเต้นแต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้มีฉากคัตซีนใหม่ ๆ อะไร เนื้อหาในภารกิจเสริมนี้ส่วนตัวไม่ได้ดึงดูดผู้เขียนมากนัก เพียงแค่มันทำให้เรารับรู้ที่มาของตัวละครดังกล่าว อีกอย่างคือภารกิจเสริมนี้กินเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
ด้วยความที่ Death Stranding Director’s Cut นี้มีการนำคอนเทนต์เสริมพิเศษอย่าง Half-Life และ Cyberpunk 2077 ที่ก่อนหน้านี้ลงบนพีซีมามัดรวมใส่ในเกมด้วย แต่ทั้งสองภารกิจนี้ไม่มีฉากคัตซีนพิเศษอะไร สิ่งที่ดำเนินเนื้อหาพิเศษนี้คือผ่านอีเมล์เท่านั้น ส่วนเนื้อหาเองไม่ได้ดึงดูดเสียเท่าไหร่ แต่ที่ดึงดูดจริง ๆ คือไอเทมสุดเจ๋งที่เราจะได้รับหลังทำภารกิจสำเร็จ ทั้งสองภารกิจนี้กินเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงสามารถเคลียร์ได้โดยง่าย ภาพรวมคือหากใครตั้งใจจะซื้อมาเสพเรื่องราวใหม่ ๆ อาจจะไม่คุ้ม
เกมเพลย์
จุดเด่นของ Death Stranding Director’s Cut อาจจะไม่ใช่เนื้อเรื่องแต่เป็นตัวเกมเพลย์นี่แหละ โดยระบบทุกอย่างเหมือนเดิมแต่มีการเพิ่มอาวุธและอุปกรณ์ใหม่เข้ามาเป็นเหมือนเครื่องทุ่นแรงในการส่งมอบพัสดุในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมีมินิเกมเพิ่มเข้ามา 2 โหมดเอาใจผู้เล่นในช่วง End Game ด้วย เอาล่ะเรามาพูดถึงพื้นที่ใหม่กันก่อน พื้นที่ใหม่ในเกมนี้ไม่ใช่เป็นแมพใหม่นะแต่เป็นสถานที่ใหม่ที่ถูกใส่เพิ่มลงไปในแผนที่เดิมซึ่งมันคือ “The Factory” หรือโรงงานร้าง สถานที่นี้ผู้เล่นจะพบเจอต่อเมื่อเล่นภารกิจใหม่ ตอนแรกที่เห็นก็ไม่คิดว่าจะใหญ่โตเอาเรื่องเหมือนกัน
ภารกิจพิเศษนี้ภายในโรงงานร้างเรายังจะพบกับอาวุธใหม่ Maser Gun ปืนช็อตไฟฟ้าแรงสูงไว้กำจัดพวก Mules จากการใช้งานเหมาะกับยิงระยะใกล้ซึ่งศัตรูอาจจะตายทันที แต่ยังไงผู้เขียนว่าอาจจะสู้พวกปืนไม่ได้แต่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกมมีให้ครับ นอกจากปืนใหม่แน่นอนเราจะได้พบกับศัตรูใหม่กับ Mules แข็งแกร่งขึ้นในชุดเกราะทำให้มีความถึกกว่าเดิม จากภารกิจใหม่รู้สึกว่ามันกลายเป็นเกมแอ็คชั่นแนวยิงบุคคลที่ 3 มากขึ้นนะ แต่ก็น่าเสียดายมีมเมทัลเกียร์ที่เราเห็นกันในตัวอย่างนั้นทีมงานไม่ได้ใส่ระบบลอบเร้นใด ๆ เข้ามา มันเป็นแค่ “มีม” จริง ๆ (คุณหลอกดาว)
อุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงใหม่อย่างแรกเลยคือ “Support Skeleton” เกราะขาหุ่นยนต์ชนิดใหม่ที่จะช่วยซับน้ำหนักในกรณีที่แบกของหนักขณะเดียวกันจะช่วยให้แซมเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ส่วนตัวแล้วในแง่ความเร็ว Support Skeleton อาจจะสู้ Power Skeleton ไม่ได้แต่ถ้ายกของหนักอันนี้สามารถสมดุลน้ำหนักได้ดี ต่อมาสิ่งปลูกสร้างใหม่ “Cargo Catapult” เป็นฐานปืนขนาดใหญ่เพื่อให้เราบรรจุสินค้าลงไปและเล็งพิกัดจุดตกเพื่อไปเก็บได้ทันที มันยิงได้ไกลและบรรจุสินค้าในแต่ละครั้งได้ไกลเหมือนกันแต่มันมีข้อเสียคือถ้าเล็งสูงเวลาสินค้าตกลงพื้นมันจะได้รับความเสียหายไปด้วยตรงนี้จะต้องระวัง
นอกจากนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างช่วยให้แซมสามารถข้ามหน้าผาได้อย่างง่ายได้และรวดเร็วมากขึ้น อย่างแรก “Jump Ramps” หรือ แลมป์กระโดดเมื่อขี่มอเตอร์ไซค์ทำความสูงมาจนถึงแลมป์มันจะช่วยบูทความเร็วส่งให้ไปได้ระยะไกลแถมเล่นท่าได้ด้วย และอีกหนึ่งอย่างคือ “Chiral Bridges” เมื่อสร้างแล้วมันคล้ายกับทางเดินสายรุ้งสามารถใช้ในการเดินขึ้นหน้าผาสูง ๆ ได้ง่ายมาก อันนี้ชอบมันช่วยลดเวลาลงเยอะมาก แต่ระวังนะถ้าเกิดฝนตกหรือหิมะตกมันจะหายไป
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด “Buddy Bot” บอทคู่ใจเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถบรรทุกสินค้าได้จำนวนมาก แถมเราไม่ต้องผูกกับตัวเราแต่มันจะเดินตามเราเองอัตโนมัติช่วยทุ่นแรงลงเยอะ มิหนำซ้ำหากแซมนำส่งสินค้าเสร็จแล้วก็กระโดดขึ้นไปนั่งบน Buddy Bot ได้ด้วยนะมันจะพาเราไปยังศูนย์ที่ใกล้ที่สุด ข้อเสียของมันก็คือมันเดินช้ามากและใช้ได้เฉพาะภายในเครือข่าย chiral communication เท่านั้น โดยรวมแม้ว่าจะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเข้ามาเพิ่มแต่ท้ายสุดแล้วผู้เขียนกลับพบว่ามันไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไหร่ และสุดท้ายแล้วผู้เขียนเองกลับไปใช้อุปกรณ์เดิมที่มีอยู่แล้วเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามพวกไอเทมพิเศษจาก Half-Life และ Cyberpunk 2077 เจ๋งมากชอบ ๆ
ถัดมาพูดถึงมินิเกมกันหน่อยซึ่งมีด้วยกัน 2 เกมได้แก่อย่างแรก “Firing Rang” มินิเกมที่ให้เราเลือกปืนที่ต้องการ โดยจับเวลายิงตามเป้าหมายก็จะได้รางวัลตอบแทน เล่นแรก ๆ เพลินมากครับมันไม่ใช่ว่าเรายืนนิ่ง ๆเพื่อยิงเป้า แต่เราต้องเดินตะลุยยิงเป้าต่าง ๆ ซึ่งบางจุดก็ขยับปั่นหัวเราได้เหมือนกันแล้วด้วยความที่มันเป็นมินิเกมเนอะนาน ๆ เข้าอาจจะเบื่อหน่อย
ส่วนอีกมินิเกมคือ “Racing Track” หรือสนามสำหรับแข่งรถนั่นเอง ตอนแรกผู้เขียนก็งงนะว่ามันอยู่ส่วนไหนของเกม แต่มันจะมีจุดให้เราสร้างสนามแข่งอยู่ และเมื่อสร้างแล้วเราก็จะสามารถแข่งขันได้โดยใช้รถที่มีให้เลือกเล่น ประเภทรถก็ตามที่มีในเกมรวมมอเตอร์ไซค์ด้วยนะ มันคือการแข่งรถจับเวลาสามารถเชื่อมต่อประชันคะแนนกันออนไลน์ได้นะ แต่ทว่ามันติดอยู่ที่การบังคับควบคุมรถนี่แหละ ด้วยความที่นำรถเดิมในเกมที่มีอยู่แล้วมาใช้มันไม่ได้เร็ว แต่ก็มีรถใหม่ซึ่งเป็นรถแข่งเร็วขึ้นมา แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้เสียไปกับการควบคุมรถที่ยากมากโดยเฉพาะการเลี้ยวจนรู้สึกว่ามินิเกมนี้มีมาเติมเต็มให้ “Director’s Cut” มีเนื้อหาเยอะขึ้นเท่านั้นเองส่วนนี้เสียดายมาก
ส่วนฟีเจอร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เพิ่มเข้ามาคือการปรับแต่งสีเจ้า BB การปรับแต่งกระเป๋า Backpack ระบบอนุญาตให้ Replay การต่อสู้กับบอสได้ และเพลงใหม่ ๆ โดยรวมระบบเกมเพลย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่มีการใส่อุปกรณ์และสร้างก่อสร้าง รวมถึงมินิเกมทั้งสองให้เกมดูน่าสนใจมากขึ้น แต่สำหรับผู้เขียนเองจากที่ได้สัมผัส Death Stranding Director’s Cut หลังจากเล่นจบมาแล้วหนึ่งครั้งนอกจากภารกิจพิเศษแล้วความรู้สึกแทบไม่ได้ต่างจากเดิมเสียเท่าไหร่ ผู้เขียนว่าตัว “Director’s Cut” เหมาะกับคนที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนมากกว่า
กราฟิกและประสิทธิภาพ
สิ่งที่ทำให้ Death Stranding Director’s Cut แตกต่างคงหนีไม่พ้นกราฟิกที่มีการอัปเกรดความละเอียดมาเป็น 4K ทำให้ภาพมีความคมชัด สีสันสดใสมากขึ้นและด้วย HDR ทำให้แสงและมุมกระทบของมันดูสมจริงมากกว่าเดิม แต่ภาพกราฟิดโดยรวมของเกมที่ออกแบบมาได้สวยตั้งแต่ PS4 แล้วมันทำให้ข้อแตกต่างนี้แยกไม่ออกสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามด้วยความที่้เกมใส่โหมดกราฟิกมา 2 โหมดคือโหมดเน้นความละเอียดสูงจะล็อคเฟรมเรตอยู่ที่ 30 FPS และโหมดเน้นประสิธิภาพจะแสดงผลความละเอียดเป็น upscale 4K และเฟรมเรตมที่ 60 FPS เจ้าโหมดประสิทธิภาพนี้เองทำให้ภาพลื่นไหลได้ดีกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังมีการใส่ฟีเจอร์ของ DualSense ได้แก่ haptics และ adaptive triggers มันรู้สึกได้ตอนปรับสมดุลน้ำหนักของแซม แล้วที่ขาดไม่ได้เกมจะรองรับเสียง 3D Audio และโหลดเร็วมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี SSD ซึ่งอันที่จริงโหลดแค่ตอนเข้าเกมครั้งแรกแปปเดียวจริง ๆ หลังจากนั้นไร้หน้าโหลดทั้งสิ้น ส่วนตัวเครื่อง PS5 เองรันเกมได้เงียบเอามาก ๆ ซึ่งต่างจาก PS4 Pro ที่เมื่อรันเกม Death Stranding ทำเอาพัดลมหมุนดังมาก
Verdict
Death Stranding Director’s Cut อัดแน่นมาพร้อมคอนเทนต์ใหม่ทั้งเรื่องราวเสริมทำให้เนื้องราวกลมกล่อมขึ้น ภารกิจพิเศษ Half-Life และ Cyberpunk 2077 ช่วยเติมเต็มชาวเพลย์สเตชั่นที่พลาดไม่ได้เล่น นอกจากนี้ตัวเกมเพลย์มาพร้อมองค์ประกอบใหม่เพียบไม่ว่าจะเครื่องทุ่นแรง อาวุธ และมินิเกม 2 แบบทั้งหมดรวมอยู่ภายใต้ภาพกราฟิกความละเอียด 4K คมชัดและฟีเจอร์ DualSense ประสบการณ์ที่หาจากเครื่องคอนโซลอื่นไม่ได้ ทว่าแม้จะมีอะไรแปลกใหม่มาเยอะพอสมควรแต่มันเหมือนมาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ได้สุดและทำให้รู้สึกแตกต่างจากเดิมมากนัก ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าหากใครเคยเล่นเกมแล้วละไม่ได้อินกับเรื่องราวมากนักการอัปเกรดมาตัวนี้อาจจะไม่คุ้ม แต่ถ้าชอบตัวเกมต้นฉบับและอยากจะสัมผัสต่อ หรือว่าไม่เคยสัมผัสเกมนี้มาก่อนเลย หากเป็นเช่นนั้นไม่ควรพลาดอย่างแรง!!
7/10
จุดเด่น (Pro)
- เนื้อเรื่องเสริมเติมเต็มให้เรื่องราวกลมกล่อมขึ้น
- ภาพกราฟิกคมชัดระดับ 4K ในโหมดประสิทธิภาพเฟรมเรต 60 FPS ลื่น ๆ
จุดสังเกต (Con)
- เกมเพลย์รู้สึกไม่ได้แปลกใหม่กว่าเดิม พื้นที่ใหม่เพิ่มมาให้จุดเล็ก ๆ จุดเดียว
- ระบบความคุมในมินิเกมแข่งรถยากมากและไม่เหมาะอย่างแรง
- คอนเทนต์เนื้อหาจริง ๆ เพิ่มเข้ามาไม่เยอะอย่างที่คาดไว้
รีวิวและเขียนบทความโดย ภัคพล บัวโทน (GuidePS4EXPErt)
ขอบคุณ โซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ สิงค์โปร
สำหรับแผ่นเกมส์ที่ให้เรามารีวีวครับ