เกม: The Last of Us™ Part II — Remastered
แพลตฟอร์ม : PS5
ภาษา: ไทย
ราคา: 1,690 บาท (หรืออัปเกรดจากเวอร์ชั่น PS4 ในราคา 400 บาท)
วันวางจำหน่าย: 19 มกราคม 2024
เมื่อเราได้ยินข่าวว่า Naughty Dog เปิดตัวเกม The Last of Us Part II Remastered หลายคนคงตั้งถามในหัว (รวมถึงผู้เขียนด้วย) ว่า “ทำทำไม ” เพราะเกมเพิ่งจะวางจำหน่ายเมื่อกลางปี 2020 และรองรับกับ PS5 ผ่าน Backward Compatibity ดังนั้นการรีมาสเตอร์เพื่อนำมาขายอีกครั้งจะต้องมีฟีเจอร์และเหตุผลเพียงพอให้ผู้คนยอมเสียเงินเพื่อจะเล่นเกมอีกครั้ง แล้ว Naughty Dog ทำมากพอที่จะให้แฟนๆ ควักเงินจ่ายอีกครั้งไหม เรียนเชิญทุกท่านอ่านรีวิว The Last of Us Part II Remastered – เกมที่เป็นมากกว่าการรีมาสเตอร์
The Lost Level – ฉากที่โดนตัดออก
เราคงจะไม่พูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาคนี้แล้ว แต่สิ่งที่น่าพูดถึงคือในการรีมาสเตอร์ครั้งนี้ ทางผู้พัฒนาได้ใส่โหมด “The Lost Level” ฉากที่โดนตัดออกจากเกมจริง ในโหมดนี้เราจะสามารถเล่นฉากเหล่านี้ได้โดยที่ทั้งหมด 3 ฉาก ทั้งสามฉากนี้พัฒนายังไม่เสร็จ ในระหว่างการเล่นจะมีจุดให้เราฟังความคิดเห็นของนักพัฒนา และคำอธิบายว่าเพราะอะไรถึงเลือกจะใส่สิ่งนี้เข้าในเกม จนไปถึงเหตุผลที่ตัดฉากนี้ออกไป พอผู้เขียนเล่นจบก็รู้สึกได้เลยว่า เออถ้าใส่มาในเกมจริง ๆ มันอาจจะไม่เข้าและยืดเยื้อไป ผู้เขียนชอบมาก เราได้เห็นการพัฒนาของฉากที่พวกพื้นผิว แอนิเมชั่นที่ไม่สมบูรณ์ และที่สำคัญวิธีคิดของทีมพัฒนาในฝ่ายงานต่าง ๆ กว่าจะออกมาเป็นเกมจริงๆ มันเป็นอย่างไร พอถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนคิดว่าชื่อ “Remastered” นั้นอาจจะไม่เหมาะ แต่น่าจะเป็น “Director’s cut” มากกว่า ในทางกลับกัน Naughty Dog กล้ามากที่นำเสนอฉากเหล่านี้ออกมา มันจึงกลายเป็นจุดขายให้ผู้คนต้องกลับมาซื้อเกมเพื่อจะสัมผัสฉากพวกนี้
No Return – หนีตายไม่หวนคืนไม่ได้
โหมด No Return ถือเป็นไฮไลท์ของเกมรีมาสเตอร์ในครั้งนี้ มันคือโหมดใหม่สไตล์โร้กไลก์ ระบบจะสุ่มสถานการณ์การต่อสู้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในเกม การสุ่มแต่ละรอบความยาวอาจจะไม่เท่ากัน บางทีต้องตะลุยไปถึง 6-7 ครั้ง อย่างไรก็ตามทุกครั้งจะสิ้นสุดด้วยการสู้กับบอส แน่นอนด้วยสไตล์โร้กไลก์หากเกิดตายขึ้นมาระหว่างอยู่ในรอบ ไม่ว่าจะตะลุยไปถึงไหนแล้วก็ตามทุกอย่างจะยุติทันที และต้องเริ่มเล่นรอบใหม่ทั้งหมด เมื่อจบแต่ละรอบก็จะได้รางวัลปลดล็อคสกิน แผนเสี่ยง (สกิลใช้งานการเล่น) รวมถึงตัวละครอื่น ๆ ไว้เล่นในโหมดนี้
ผู้เขียนชอบโหมดนี้มาก มันเพิ่มความสนุกและแปลกใหม่ให้กับเกมเป็นอย่างมาก แต่ละรอบจะเจอความท้าทายใหม่ ๆ ไม่เหมือนกัน แน่นอนแต่ละตัวละครระบบก็สุ่มสถานการณ์ และโหมดการเล่นในการพิชิตแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกันออกมา ผลที่ได้คือมันทำให้เกมไม่จำเจเล่นได้เรื่อย ๆ และทำให้รู้สึกว่าอยากจะปลดตัวละคร หรือสกินให้ครบ
ผู้เขียนขอขยายความส่วนโหมดการเล่นหน่อย คือเมื่อเข้าไปเล่นแต่ละรอบแล้ว แต่ละสถานการณ์ก็จะมี Requirement ในการพิชิตไม่เหมือนกัน อย่างโหมดที่เรียกว่า “ฝูงบุก” ระบบจะปล่อยศัตรูออกมาเป็นรอบ ๆ ผู้เล่นต้องกำจัดให้หมด จากนั้นจะมีเวลาให้พักเติมเสบียง หรือทำแผล จากนั้นศัตรูรอบใหม่ก็จะออกมา หรือถ้ายังไม่ท้าทายพอต้องเจอโหมด “ถูกล่า” ระบบจะปล่อยศัตรูออกมาเรื่อย ๆ เราจะต้องต้านทานและกำจัดศัตรูจนกว่าเวลาจะหมด โหมดถูกล่านี้จะท้าทายขึ้นเมื่อศัตรูฝั่งตรงข้ามคือเหล่าผู้ติดเชื้อ และพวก Clicker เพราะถ้าเจอฝูง Clicker แล้วล่ะก็ทำเสียงดังนิดเดียว แล้วกระสุนเหลือน้อยมันเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ๆ
นอกจากนี้ยังมีโหมด “คุ้มกัน” ต้องพยายามป้องกันพันธมิตรจากผู้ติดเชื้อ ความท้าทายคือหากเราหรือพันธมิตรตาย รอบนั้นจะล้มเหลวไป และโหมด “ยึดพื้นที่” ศัตรูมันจะคอยเฝ้าตู้เซฟที่มีของล้ำค่าอยู่ เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อแย่งชิง และกำจัดศัตรู โดยถ้าเวลาหมดลงตู้เซฟจะถูกล็อคทันที จะเห็นได้ว่าทางผู้พัฒนานำเสนอโหมดการเล่นเยอะมาก แต่ละโหมดก็อาจจะมีการสุ่มศัตรู นอกจากผู้ติดเชื้อก็จะมี พวก WlF และพวก Scars ซึ่งศัตรูแต่ละกลุ่มก็มีวิธีการกำจัดแตกต่างกันออกไป ไม่เพียงเท่านั้นบางรอบเราอาจจะได้จับคู่กับตัวละครอีกคนช่วยกันด้วยนะ คือมันหลากหลายมาก ดังนั้นมันทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าแม้มันจะไม่ใช่โหมดออนไลน์ก็เถอะ แต่เพลินและมันส์มาก
สิ่งที่จะทำให้โหมด No Return สมดุลและเพิ่มความท้าทายคือ “ทรัพยากร” ซึ่งผู้พัฒนาออกแบบระบบออกมาได้ดีมาก ระบบถูกออกแบบมาว่าเมื่อเล่นใหม่ทุกครั้ง ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ ทักษะ หรือทรัพยากรกระสุน ชิ้นส่วนต่าง ๆ ถูกรีเซ็ทใหม่ทั้งหมด ผู้เล่นจะต้องตามเก็บเอง หรือสะสมชิ้นส่วนในสถานการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละรอบ รางวัลที่ได้ในแต่ละสถานการณ์จะเป็น ชิ้นส่วน อาหารเสริม และเงิน เพื่อใช้ในการอัปเกรดอาวุธที่โต๊ะช่าง หรือซื้อทักษะ/อาวุธ/กระสุน/เสบียง ต่าง ๆ ในร้านค้าหลังเล่นจบแต่ละสถานการณ์ได้ แน่นอนครับว่าร้านค้าก็ไม่ได้มีทุกอย่าง แต่ละครั้งร้านค้าจะสุ่มของออกมาขายไม่เหมือนกัน บางครั้งสุ่มออกมามีอาวุธดีๆ ให้ซื้อ บางครั้งมีแต่กระสุน หรือบางครั้งมีแต่อุปกรณ์ไว้คราฟท์ ที่ตลกร้าย ถ้าของที่ขายไม่ถูกใจคือ ระบบมันมีให้ผู้เล่นใช้เงินในการสุ่มของในร้านค้าได้ด้วยนะ นอกจากของขายที่อาจจะโดยสุ่มแล้ว พวกทักษะสกิลก็ไม่ครบนะ รวมถึงทักษะในการคราฟท์ด้วย บางรอบนี่ต้องเก็บ Manual ได้ถึงจะอัปเกรดทักษะเทพ ๆ ได้ นี่แหละคือความท้าทายให้เราสามารถกลับมาเล่นจนไม่รู้เบื่อ
นอกจากระบบที่แทบจะสุ่มทุกอย่างแล้ว ตัวเกมมีระดับความยากให้เลือกถึง 6 ระดับ และถ้ายังไม่สะใจพอสามารถกำหนดเองเลยว่า จะให้ศัตรูโหดขนาดไหน จะให้มีทรัพยากรเยอะไหม จัดเองได้เลย แต่ละความยากก็จะมีตัวคูณคะแนนแตกต่างกันออกไป ยิ่งยากตัวคูณก็จะยิ่งสูง เพราะเมื่อจบแต่ละรอบแล้วจะมี Rank คะแนนสรุปออกมาไว้อวดเพื่อน ๆ ใครเล่นระดับ “สมจริง” ได้ Rank S นี่เท่แน่นอน และจะมีการจัดลำดับ Leaderboard ด้วยนะ
จากที่กล่าวมาข้อดีเยอะแล้วเนอะ เรามาพูดถึงข้อเสียกันบ้าง ผู้เขียนไม่เถียงว่าโหมด No Return นำเสนอวิธีการเล่นหลากหลายมาก ๆ แต่รางวัลหรือความท้าทายที่ระบบปลดล็อคหลังเล่นสำเร็จในแต่ละรอบนั้นรางวัลมันไม่สมกับแรงเสียเท่าไหร่ เช่น มีสกินตัวละครเอลลี่ให้ปลดเล็อคอยู่ 3 ชุดงี้ ผู้เขียนว่ามันน้อยไปนิดนึง ในโหมดนี้มีตัวละครหลักให้เลือกเล่น 9 ตัวละคร ซึ่งเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในเรื่อง มันก็เยอะพอที่ผู้เล่นจะดื่มด่ำและจมปลักอยู่กับโหมดนี้ได้นานหลายสิบชั่วโมง อย่างไรก็ตามถ้ามีรางวัลเยอะขึ้นอีกหน่อยก็จะทำให้โหมดนี้สมบูรณ์มากขึ้น
สุดท้ายนี้เมื่อผู้เขียนเล่นโหมด No Return มันชวนให้นึกไปถึงโหมด factions (โหมดออนไลน์ภาคแรก) มันเหมือนมีกลิ่นอายเล็ก ๆ ว่าก่อนจะมาเป็นโหมด No Return นี้ มันอาจจะเคยเป็นโหมดออนไลน์มาก่อนหรือเปล่า ทว่าท้ายสุดถูกพับโครงการลง จึงเอาองค์ประกอบบางส่วนมาสร้างเป็นโหมดนี้ขึ้นมา อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวเฉย ๆ นะครับ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผู้เขียนกล้าพูดว่าโหมด No Return มีองค์ประกอบความเป็นโร้กไลก์ควบถ้วน และมันมีเหตุผลพอที่ผู้เขียนสามารถยอมเสียเงินอีกครั้งเพื่อได้สัมผัสโหมดนี้
Free Guitar – ดีดกีตาร์อิสระ
โหมดนี้เรียกว่าทำตามคำเรียกร้องแฟน ๆ ที่ต้องการจะเล่นกีตาร์ได้แบบอิสระ ทางทีมงานเลยจัดให้ไปเลย และนอกจากกีตาร์โปร่งจากในเกม ทางทีมพัฒนาได้เพิ่มแบนโจ กีตาร์ไฟฟ้าอีก 3 แบบเข้ามาด้วย แล้วด้วยความที่เป็น Naughty Dog กีตาร์แต่ละตัวให้เสียงที่แตกต่างกันออกไปด้วยนะ ยังไม่พอผู้เล่นสามารถปรับแต่งเอฟเฟกต์เพิ่มเข้าไปได้ เลือกสถานที่ในการนั่งเล่นกีตาร์ได้ 4 แห่ง มิหนำซ้ำสามารถปรับฟิลเตอร์ภาพได้อีก เรียกว่าครบเครื่องไปเลย ส่วนตัวละครก็มีให้เลือกเล่นกีตาร์ 3 คนได้แก่ เอลลี่ โจเอล และคุณ Gustavo Santaolalla ผู้ประพันธ์เพลงประกอบของซีรี่ส์ The Last of Us (เข้าใจว่าตัวละครที่เหลือในเกมเล่นกีตาร์ไม่เป็น)
กราฟิกและประสิทธิภาพ
ก่อนอื่นเลยต้องออกตัวไว้ก่อนว่า The Last of Us Part II ต้นฉบับนั้นก็ทำออกมาได้สมจริงมาก ๆ แล้ว ดังนั้นการ Remastered ครั้งนี้เราเห็นความแตกต่างอะไรหรือไม่? ถ้าไม่ได้มานั่งเทียบระหว่างต้นฉบับกับ Remastered อาจจะไม่เห็นความต่างมากนัก ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถรู้สึกได้ว่าพื้นผิว (Texture) ขององค์ประกอบทั้งหมดภายในฉากคมชัดมากขึ้น ไม่เบลอ มีสีสดขึ้น ไม่ดูซีดเหมือนต้นฉบับ ทำให้องค์ประกอบโดยรวมในฉากดูดีขึ้น และการรองรับ Ray Tracing ทำให้แสงตกกระทบดูสมจริงมากกว่าเดิม
นอกจากกราฟิกแล้วทีมพัฒนามีการยกระดับใส่ลูกเล่นให้กับ DualSense เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้ Adaptive Trigger ในการตอบสนองและถ่ายทอดความรู้สึกรอบตัวเช่นการเดินบนหิมะ การตะลุยไปยังเมืองซีแอตเทิลที่เปียกฝนชุ่มโชกเป็นต้น ตรงนี้ก็ทำได้เทียบเท่ามาตรฐานเกมเอ็กซ์คลูซีฟอื่น ๆ ของ PlayStation
ทางด้านประสิทธิภาพ เกมนำเสนอโหมดกราฟิก 2 โหมดได้แก่ Fidelity Mode เน้นความละเอียด Native 4K บนเฟรมเรต 30 FPS หรือ Performance ความละเอียด 1440p Upscaled ไปจนถึง 4K บนเฟรมเรต 60 FPS นอกจากนี้สำหรับทีวีที่รองรับ VRR ตัวเกมสามารถปลดล็อคเฟรมเรต แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือตัวเกมยังมีหน้าโหลดคั่นกลางอยู่ อาจจะโหลดเร็วขึ้นกว่าเดิมนิดนึง แต่มันก็ทำให้ความต่อเนื่องลดลง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเกมไม่ได้พัฒนาใหม่สำหรับ PS5 ตั้งแต่ต้น ทำให้ไม่ได้ดึงความสามารถ SSD ออกมาไม่เต็มที่
Verdict
หลังจากที่ได้สัมผัสกับเกม The Last of Us Part II Remastered ผู้เขียนสามารถพูดได้ว่าทาง Naughty Dog สามารถใส่คอนเทนต์เข้ามาได้คุ้มค่าพอที่จะเสียตังเพื่อจะได้สัมผัสอีกครั้ง กับโหมด No Return สไตล์โร้กไลก์ทำให้ผู้เล่นสามารถสัมผัสการเล่นได้หลากหลายแบบ เพิ่มความท้าทายแบบไม่รู้จบ ส่วนใครที่ชอบเสพเนื้อเรื่องก็จะสามารถสัมผัสกับฉากทั้ง 3 ที่ถูกตัดออกไปได้อย่างเต็มอิ่ม หรือคนที่ชอบเล่นกีตาร์ก็สามารถสัมผัสโหมด Free Guitar ได้แบบจุใจ ประกอบกับการยกระดับกราฟิกให้คมชัดขึ้น สมจริงขึ้น ซึ่งรับประกันได้เลยว่าซื้อมาเล่นอีกรอบคุ้มแน่นอน
9/10
จุดเด่น (Pro)
- โหมด No Return นำเสนอรูปแบบการเล่นแบบใหม่ ทำเอาติดงอมแงม
- Lost Level ดีกว่าที่คิด ทำให้เข้าใจสิ่งที่นักพัฒนานำเสนอมากขึ้น
- โหมดกีตาร์อิสระ ถูกใจสายนักดีดกีตาร์แน่นอน
จุดสังเกต (Con)
- โหมด No Return มีสกิน หรือของรางวัลให้ปลดล็อคน้อยไปหน่อย
- เสียดายที่ตัวเกมยังมีหน้าโหลดคั่นกลางอยู่ โดยไม่ได้ดึงความสามารถ SSD ออกมาไม่เต็มที่
- กราฟิกดูไม่แตกต่างเท่าไหร่
รีวิวและเขียนบทความโดย ภัคพล บัวโทน (GuidePS4EXPErt)
ขอบคุณบริษัท PlayStation Asia
สำหรับแผ่นเกมส์ที่ให้เรามารีวีวครับ