DualShock 4 คอนโทรลเลอร์ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านดีไซน์และการออกแบบในประวัตศาสตร์เพลย์สเตชั่นเลยก็ว่าได้ นับตั้งแต่ DualShock 1 ของเครื่องเพลย์สเตชั่น 1 จนถึง DualShock 3 ของเพลย์สเตชั่น 3 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของดีไซน์ตัวคอนโทรลเลอร์ รวมถึงไม่มีฟีเจอร์แปลกใหม่เลย (เว้นแต่คอนโทรลเลอร์ของ PS3 ไร้สายและเพิ่มลูกเล่น Accelerometer เข้ามา) แต่เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2013 โซนี่ได้จัดงานแถลงข่าวพิเศษขึ้น ในงานนี้เองพวกเขาได้เปิดตัวคอนเซ็ปต์ เครื่องเพลย์สเตชั่นรุ่นต่อไปอย่าง PS4 และได้เปิดตัว DualShock 4 คอนโทรลเลอร์เป็นครั้งแรก
DualShock 4 คอนโทรลเลอร์ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ศูนย์ โดยรูปทรงของตัวคอนโทรลเลอร์จะอ้างอิงมาจาก DualShock ต้นฉบับ แต่มีการออกแบบให้ใหญ่จับถนัดมือมากขึ้นและด้านล่างของตัวคอนโทรลเลอร์มีพื้นผิวเป็นยางให้เพื่อให้จับไม่ลื่นหลุดมือออกไป นอกจากนี้คอนโทรลเลอร์มาพร้อมลูกเล่นใหม่มากมายได้แก่ Light Bar ลูกเล่นช่วยแยกผู้เล่นออกได้สูงสุด 4 คนและนักพัฒนาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเกมของพวกเขาได้ด้วยอาทิ แสดงสถานะเลือด เป็นต้น, Touchpad ลูกเล่นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากแผ่น Touchpad ของเครื่อง PS Vita สามารถใช้เป็นเสมือนแผ่นสัมผัส (เกมส่วนใหญ่ใช้เป็นการเลื่อนดูแผนที่), Gyroscope เซ็นเซอร์ตรวจจับลักษณะการหมุนของคอนโทรลเลอร์ , ปุ่มแชร์ สามารถแชร์ภาพสกรีนช็อตหรือวีดีโอคลิปเกมเพลย์ไปยังโซเชียลมีเดียได้ทันที และช่องเสียบหูฟังผ่านตัวคอนโทรลเลอร์ทันที
แต่ทว่าลูกเล่นอันแฟนซีเหล่านี้กลับถูกนักพัฒนามองข้ามไป (ไม่นับปุ่มแชร์นะ) ต้องยอมรับว่าแม้แต่ค่ายในเครือโซนี่เอง ส่วนใหญ่แล้วยังไม่ดึงศักยภาพคุณลักษณะเฉพาะของ DualShock 4 พวกนี้ออกมาใช้เลย เปรียบเสมือนลูกเล่นที่ถูกลืม ส่วนมากเราจะได้ใช้ลูกเล่นเหล่านี้ในเกมจำพวก VR (ตัวอย่างเช่นเกม Astro Bot: Rescue Mission) แล้วเมื่อเครื่องเกมยุคต่อไปกำลังเคลื่อนเข้ามาทุกที ๆ ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า “DualShock 5 ควรรักษาคุณลักษณะเฉพาะของ DualShock 4 เอาไว้หรือไม่”
คำตอบมันง่ายมากครับ ก็ควรเอาไว้อยู่แล้ว มันไม่มีเหตุผลอะไรที่สมควรถอดฟีเจอร์เหล่านี้ออก มาดูเหตุผลที่ DualShock 5 ควรรักษาคุณลักษณะเฉพาะของ DualShock 4 เอาไว้กันดีกว่าครับ มาเริ่มกันเลย
Backward Compatibility (รองรับการเล่นเกม PS4)
เป็นประเด็นสำคัญเลยก็ว่าได้ แม้ว่าเกมส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ฟีเจอร์เหล่านั้นก็ตาม แต่อย่าลืมว่าก็มีอีกหลายเกมเหมือนกันที่ใช้ครับ นอกเสียจากเครื่องเพลย์สเตชั่นรุ่นใหม่จะรองรับ DualShock 4 คอนโทรลเลอร์ บอกเลยว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะ PS4 เองยังไม่รองรับ DualShock 3 เลย ดังนั้นแล้ว DualShock 5 จำเป็นต้องรักษาคุณลักษณะเฉพาะของ DualShock 4 เอาไว้ เพื่อรองรับการเล่น Backward Compatibility เพราะหาก DualShock 5 ไม่ใส่ลูกเล่นเหล่านั้นเข้ามา จะส่งผลต่อการเล่น Backward Compatibility อย่างแน่นอน
VR Compatibility
เราพูดถึงเรื่อง Backward Compatibility กันไปแล้วแต่อย่าลืมกันนะครับว่า PS4 ก็มีเกมที่ออกแบบมาสำหรับ PS VR โดยเฉพาะเกมเหล่านี้แหละได้ใช้ลูกเล่นเฉพาะของ DualShock 4 มากมายตั้งแต่แถบแสง ยัน Gyroscope ผู้เขียนเชื่อว่าโซนี่จะเปิดตัว PS VR รุ่นใหม่แน่นอน (คงไม่เปิดตัวพร้อมเครื่องเพลย์สเตชั่นรุ่นต่อไป) ดังนั้นแล้วแว่น PS VR รุ่นปัจจุบันต้องรองรับกับเครื่องเพลย์สเตชั่นรุ่นต่อไปได้ ทั้งนี้แล้วมันหมายความว่า DualShock 5 จำเป็นต้องใส่คุณลักษณะเฉพาะของ DualShock 4 เข้าไป ไม่ใช่นั้นเกมอย่าง Astro Bot: Rescue Mission หรือ Resident Evil 7 เล่นไม่ได้แน่นอน
มีไว้ไม่เสียหาย ดีกว่าไม่มี
แม้ว่าลูกเล่นอย่าง Touchpad หรือ Gyroscope จะเป็นเพียงลูกเล่นทางเลือก แต่มันไม่ได้ทำร้ายใคร มีไว้ไม่เสียหาย แล้ว Touchpad เองนักพัฒนาส่วนใหญ่นำมาใช้ในการดูแผนที่ ง่ายต่อการซูมเข้าซูมออก หรือ Gyroscope เป็นลูกเล่นหลักที่ใช้ในเกม Dreams ด้วย หากไม่มีระบบการเล่นเสียหายแน่นอน ลูกเล่นดังกล่าวไม่ได้ทำให้แบตเตอรี่ลดเร็วด้วย ส่วนอีกด้านหนึ่ง Light bar โซนี่ควรหาทางออกมาแก้ปัญหาจุดนี้ จะเปลี่ยนวิธีการแสดงแทบแสง หรือไม่ก็มีออฟชั่นให้ปิดไปเลยก็ได้ ตรงนี้ต้องมาคอยดูกันว่าโซนี่จะแก้ปัญหาอย่างไร
โซนี่ควรสนับสนุนลูกเล่นเหล่านี้ในเกมของตัวเองมากขึ้น
โซนี่ควรสนับสนุนคุณสมบัติเหล่านี้ให้มากขึ้น การสนับสนุนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้เปลี่ยนหน้าตาเมนูระบบให้รองรับลูกเล่นพวกนี้ ผู้เขียนหมายความว่าพวกเขาต้องการสนับสนุนฟีเจอร์เหล่านี้ในเกมของพวกเขาเอง หากพวกเขาทำแล้วออกมาดีค่ายพัฒนา 3rd Party อาจจะพัฒนาใส่ลูกเล่นเหล่านี้ตาม ถ้าหากโซนี่ไม่ทำอะไรเลย เรื่องอะไรค่ายพัฒนา 3rd Party อื่น ๆ จะทำ?
ยกตัวอย่างเครื่อง Nintendo Switch ซึ่งก็มีลูกเล่น Gyroscope เป็นลูกเล่นทางเลือกให้นักพัฒนาได้ใช้ แต่พวกเขาใช้ลูกเล่นนี้เป็นจุดขายของเกม Breath of the Wild และ Splatoon 2 ทั้งสองเกมนี้เป็นเกมของนินเทนโดเองผลออกมาเหนือความคาดหมายมาก จึงทำให้ค่ายพัฒนา 3rd Party อื่น ๆ หันมาใส่ลูกเล่นนี้ลงในเกมของพวกเขาอาทิ เกม Paladins, DOOM และ Fortnite เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้วมันไม่ได้เสียหายอะไรเลย อีกอย่างนักพัฒนาก็เคยผ่านการพัฒนาฟีเจอร์เหล่านี้มาแล้วทั้งสิ้น อีกอย่างมันก็ไม่เสียหายต่อผู้เล่นด้วย หากโซนี่ไม่นำร่องเอาฟีเจอร์มาใส่ในเกม ก็เป็นไปได้ยากมากในการชักชวนให้ค่าย 3rd Party ต่าง ๆ สนใจใส่ลูกเล่นเหล่านี้ลงในเกมของพวกเขา
ณ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าลักษณะรูปร่างของ DualShock 5 เป็นอย่างไร แต่ 4 เหตุผลที่กล่าวมีก็เป็นเหตุผลเพียงพอให้โซนี่ใส่คุณลักษณะเฉพาะของ DualShock 4 เอาไว้ในคอนโทรลเลอร์รุ่นต่อไปครับ และผู้เขียนเองต้องเรียนตามตรงว่าตื่นเต้นกับเครื่องเพลย์สเตชั่นรุ่นต่อไปมาก ๆ คาดว่าเครื่องจะเปิดตัวและวางจำหน่ายในปี 2020 ครับ
บทความโดย Play4Thai
ได้แรงบันดาลใจในการเขียนจาก GamingBolt