เกม: God of War Ragnarök
แพลตฟอร์ม : PS5
ภาษา: รองรับภาษาไทย
ราคา: 2,290 บาท (PS5), 1,990 (PS4)
วันวางจำหน่าย: 9 พฤศจิกายน 2022
God of War (2018) เกมที่เป็นเหมือนกับรีบูทใหม่ พัฒนาโดย Santa Monica Studio กับเรื่องราวพ่อผู้ที่เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามและลูกวัยเด็กได้ฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อภารกิจสุดท้ายที่เฟรยาทิ้งไว้ก่อนจากไป ด้วยเกมเพลย์แปลกใหม่และสไตล์การเล่าเรื่องเข้มข้นจึงเกิดสูตรสำเร็จใหม่จนเกมคว้ารางวัล Game of the Year จาก The Game Award 2018 จากเหตุการณ์ภาคแรกที่ทิ้งท้ายไวั นำมาสู่สงครามแร็กนาร็อกกับเกม God of War Ragnarök ที่จะมาปิดฉากเรื่องราวและไขข้อสงสัยทั้งหมด ทว่าเกมเปิดตัวไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าภาคแรก ไม่ค่อยมีข่าวออกมามากนักผนวกกับตัวอย่างเกมเพลย์ก็สั้นเหลือเกิน เกมจะสามารถสานต่อสูตรสำเร็จของเกมภาคแรกได้หรือไม่ ในบทความนี้คุณจะได้คำตอบ เรียนเชิญอ่านรีวิวเกม God of War Ragnarök – อวสานเทพเจ้าแห่งสงคราม กันได้เลย
**บทความรีวิวนี้เป็นบทความไม่มีการสปอยล์เนื้อเรื่อง และตัวระบบเกมบางส่วน เพื่อให้แฟนๆ ได้รับประสบการณ์สูงสุดในการเล่น และตื่นเต้นที่จะได้สัมผัสเกมนี้ครับ
เนื้อเรื่อง
เรื่องราวในเกม God of War Ragnarök เริ่มต้นขึ้น 3 ปีหลังเหตุการณ์ในภาคแรก สังเกตได้จากอเทรอัสเสียงแตกหนุ่มแล้ว และเคราเครโทสมีหงอก เรื่องราวในภาคนี้ทางเครโทสและอเทรอัสต้องออกเดินทางอีกครั้งไปยังอาณาจักรทั้งเก้าเพื่อแสวงหาคำตอบของคำทำนายของ “โลกิ” หรือคำทำนายอนาคตของตัวเขาเองที่ทิ้งท้ายไว้ในภาคแรก ตามคำทำนายท้ายที่สุดการกระทำบางอย่างจะนำสองพ่อลูกไปสู่สงครามแร็กนาร็อก เครโทสและอเทรอัสต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างความปลอดภัยของตัวเองกับการปกป้องอาณาจักรที่เหลืออยู่เอาไว้
เรื่องราวภาคนี้เข้มข้นยิ่งกว่าเอสเปรสโซ่เสียอีก วินาทีแรกที่เริ่มเกมขึ้นผู้เล่นจะก้าวสู่แอ็คชั่นทันที มีการนำเสนอฉาก Cinematic มากมายให้ผู้เล่นได้เสพกันอย่างเต็มที่ หัวใจหลักอย่างเนื้อเรื่องนำเสนอมาได้ดีมาก ๆ มีการไขปริศนาทั้งหมดตั้งแต่ภาคแรก จุดใหญ่ในภาคนี้คือการพัฒนาตัวละคร อเทรอัสเข้าสู่วัยรุ่นมีความคิดของตนเอง มีความดื้อไม่ฟังอยู่ในตัวที่สำคัญคือมีความกล้ามากกว่าภาคแรกเยอะ ขณะเดียวกันเครโทสเองมีความคิดแบบคนเป็นพ่อ และมีความเป็นห่วงอเทรอัสอย่างมาก แต่ก็ยังมีจิตใจนักสู้ไม่ว่าจะความโกรธ ความบ้าในตัวเขาเอง เมื่อเล่นก็จะได้เห็น 2 มุมที่แตกต่างกัน และด้วยความดื้อ ความมั่นใจของอเทรอัสนี่เองจะกลายเป็นตัวพลิกเรื่องราวในเกม นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่น ๆ จากภาคแรกกลับมาให้เห็นและมีส่วนร่วมสำคัญมาก ๆ ในภาคนี้ และการพัฒนาตัวละครตั้งแต่ต้นและจบเกมแสดงให้เห็นชัดเจนต้องขอชื่นชมผู้พัฒนาจริง ๆ
เรื่องราวในเกมไม่สามารถคาดเดาอะไรได้แม้แต่นิดเดียว ทางค่ายได้สับขาหลอกไปจนแบบว่าผู้เขียนแทบไม่เชื่อเลย มิหนำซ้ำตัวอย่างที่ถูกปล่อยออกมาให้เราชมกันมันอาจจะไม่จริงไปทั้งหมดก็ได้นะ นอกจากนี้บทสนทนาระหว่างทางไม่ว่าจะตอนพายเรือหรือเดินก็จะมีการพูดคุยที่นอกจากมุขของมิเมียร์แล้ว ยังมีเรื่องราวสอดแทรกเข้ามาด้วย ส่วนนี้นี่แหละสนุกมาก นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับเกม God Of War ภาคก่อน ๆ ที่มีการอธิบายด้วยว่าเครโทสมาลงเอยอยู่มิดการ์ดได้อย่างไร หรือปริศนาฝ่ามือสีทองบนต้นไม้ที่เราเห็นในภาคแรก God of War Ragnarök นำเสนอเรื่องราวได้ครบทุกรสชาติ และฝากข้อคิดดีๆ ประโยคซึ้ง ๆ ไว้มากมาย คือความรู้สึกหลังเล่นจบแบบนี่มันอารมณ์ภาพยนตร์ชัด ๆ อ่ะ พูดแบบไม่อวยเลยถ้าให้ผู้เขียนเปรียบเกม God of War Ragnarök กับภาพยนตร์แล้วล่ะก็..มันคือ Avenger End Game!! แบบไร้ที่ติ
อ๋อแล้วอย่าลืมไปว่าภาคนี้มีระบบซับไตเติลภาษาไทยที่เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้น งานแปลในเกมนี้ถือว่าโอเคเลยมีการใช้ศัพท์ที่เหมาะสมกับยุคเช่นแทนตัวเองว่า “ข้า” อย่างไรก็ตามก็มีบางประโยคเล็กน้อยที่ให้รู้สึกว่าใช้คำอื่นอาจจะดีกว่าไหม? แต่ แต่ แต่… ณ ช่วงเวลาที่ผู้เขียนรีวิวก่อนอัปเดตเดย์วัน เมื่อผ่านในช่วงต้นเกมมาสัก 4 ชั่วโมงจะพบว่าระบบซับไตเติลภาษาไทย “พัง” หนักมากโดยตัวซับไตเติลภาษาไทยแสดงผิด ขึ้นมาผิดประโยค ตัวอักษรสระขาดเช่น “ออกเดินทางกันได้แล้ว” เป็น “ออกเดินทางกันได้แล้” ตัว “ว” จะตกไปอยู่ในประโยคต่อไปแบบนี้ “วมัวรออะไรอยู่” ปัญหานี้เป็น ๆ หาย ๆ ตลอดเกม ตอนนี้ทางโซนี่ทราบปัญหาแล้วนะครับ ทางค่ายสัญญาว่าจะมีอัปเดตออกมาแก้ไขให้ คาดว่าตอนจำหน่ายจริงหวังว่าจะไม่เจอปัญหานี้แล้ว หลังอัปเดต Day One Patch ขนาด 30 GB แล้วทางผู้เขียนได้เข้าไปตรวจสอบอีกครั้งพบว่า บั๊คดังกล่าวได้รับการแก้ไขเรียบร้อยทันเวลาเกมวางจำหน่ายพอดี ประโยคเรียงถูกต้อง ภาษาที่ใช้ดีและเหมาะสมกับเกม ผู้เขียนประทบใจกับการรีบแก้ไขทันกำหนดการวางจำหน่ายของเกม แม้เราจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ทาง Santa Monica ก็ทุ่มเทและใส่ใจครับ
เกมเพลย์
ระบบเกมเพลย์ของเกม God of War Ragnarök เป็นการนำสูตรสำเร็จของเกมภาคแรกไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งวางปุ่ม ทักษะบางส่วน ระบบการคราฟท์และอัปเกรดอาวุธนั้นเหมือนกับภาคแรกเลย แต่ทางทีมพัฒนาได้มีการสอดแทรกเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามาในแต่ละจุดของผู้เล่นเองรู้สึกว่ามันมีความแปลกใหม่และแตกต่างจากเดิม ยกตัวอย่างทักษะ Skill Tree ที่มีทักษะเยอะกว่าเดิมและก็จะใช้ค่าประสบการณ์ XP ในการอัปเกรดเหมือนก่อน แต่ในบางทักษะสามารถใส่เหมือนเครื่องรางเข้าไปเพิ่มได้ 1 อย่างระหว่างธาตุ รูนหรือจะมึนงง และนอกจากเบลด ออฟ เคออส (Blade of Chaos) ขวานเลเวียธาน และโล่ผู้พิทักษ์แล้วนั้นมันมีอีกหนึ่งอาวุธใหม่ในภาคนี้ด้วยนะจะเป็นอะไรนั้นไปติดตามเอง
มาพูดถึงระบบอาวุธและความคืบหน้า (Gear and Progression System) ของเกมภาคนี้กันดีกว่า แม้ว่าระบบอาวุธจะคล้ายของเดิมมาก แต่ทางผู้พัฒนาก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน ที่เห็นชัดคือชุดเกราะในภาคแรก ผู้เล่นจะสามารถใส่ “เครื่องราง” เพิ่มเข้าไปในเกราะแต่ละชิ้นได้ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าเกราะชิ้นนั้นสามารถใส่เครื่องรางได้สูดสุดกี่ชิ้น ทว่าในภาคนี้ไม่ได้เป็นเช่นและทำให้ยากขึ้นกว่าเดิม ชุดเกราะแต่ละชิ้นไม่ได้มีช่องใส่เครื่องรางแล้ว แต่ตัวระบบจะมองว่าชุดเกราะสามารถใส่เครื่องรางได้กี่ชิ้น โดยตัวเกมจะอนุญาตให้ผู้เล่นใส่เครื่องรางได้สูงสุด 9 ชิ้น อย่าเพิ่งดีใจกันนะ เพราะการที่จะปลดล็อคช่องใส่เครื่องรางแต่ละช่อง ผู้เล่นจะต้องหาสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องรางแห่งอิกดราซิล” เพื่อปลดล็อค ซึ่งจะได้มาจากการเล่นเนื้อเรื่องหลัก และเปิดพวกหีบสมบัติแหละ แต่มันจะยากกว่าเดิมตรงที่เกราะแต่ละชิ้นมีช่องมาให้แล้ว ผู้เขียนคิดว่าทางผู้พัฒนาคิดมาดีเพื่อจะให้มันสมดุลกับคอนเทนต์ในภาคนี้ที่มีให้เล่นอย่างมากมาย
ส่วนอาวุธก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “โบราณวัตถุ” ช่องเสริมใหม่ที่จะสามารถใส่ไอเท็มพิเศษเพื่อช่วยเพิ่มการโจมตีแบบ Passive หรือ Active ก็ได้ตามที่ผู้เล่นเลือก ส่วนนี้ใส่ได้เพิ่มเพียงช่องเดียว แต่ความท้าทายคือไอเท็มโบราณพวกนี้จะต้องหาและคราฟท์เอา วัตถุเทพจะหายากหน่อยตรงนี้ ช่วยมาปรุงแต่งเกมเพลย์ให้กลมกล่อมขึ้น บางครั้งก็สร้างความได้เปรียบให้กับตอนต่อสู้อยู่มากเลย
ไม่เพียงเท่านี้ยังมีระบบ Grappling Hook ที่อาศัยใช้เบลด ออฟ เคออส ในการขว้างออกไปเกี่ยวกับวัตถุเพื่อโหนตัวไปอีกฝั่ง หรือจะเป็นลูกเล่นของขวานน้ำแข็งที่ถูกนำมาต่อยอดจากภาคก่อนในการแช่แข็งบ่อน้ำพุร้อน หรือลำธารเพื่อแก้ไขปริศนาในพื้นที่ดังกล่าว เป็นต้น หรือจะเป็นธนูของอเทรอัสที่ทางผู้พัฒนาเพิ่มเข้ามาในการช่วยและร่วมมือกับเครโทสเพื่อไขปริศนา Puzzle ต่าง ๆ ในเกม แล้วตัว Puzzel ในภาคนี้ยังคงมาตรฐานเดิมคือง่าย ๆ ไม่ปวดหัวเท่าเกมอื่น ๆ เช่น Uncharted
ในเรื่องคอนเทนต์ของเกมพูดได้เต็มปากว่าจุใจแน่นอน God of War Ragnarök เรียกได้ว่าอลังการและกว้างใหญ่กว่าภาคก่อนมาก ในภาคก่อนเราต้องรอเกือบครึ่งเกมกว่าจะได้สัมผัสพื้นที่กึ่งโอเพ่นเวิลด์ ทว่าในภาคนี้ในช่วงแรกผ่านตอนต้นเกมไปนิดเดียวเราก็จะเข้าสู่พื้นที่เปิดเลย มีภารกิจย่อยให้สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงแรก แล้วหากใครบ่นว่า God of War (2018) มี 9 อาณาจักรแต่ไปจริงได้เพียงแค่ 5 อาณาจักรเอง ภาคนี้ไม่ต้องกลัว ไปได้ทุกอาณาจักรแน่นอน แล้วแต่ละอาณาจักรไม่ใช่เล็กๆ แต่ทุกอาณาจักรจะมีพื้นที่ให้สำรวจเยอะและภารกิจย่อยให้ทำเพียบ นอกจากการเดินทางด้วยเรืออย่างเดียว ภาคนี้ก็มีเลื่อนน้ำแข็งเข้ามาด้วย
ผู้เขียนว่าคอนเทนต์เยอะกว่าภาคแรกราว 2 เท่าได้ ถ้าเล่นเนื้อเรื่องเพียว ๆ เลยก็ปาไป 30 ชั่วโมงแล้ว ผู้เขียนว่าถ้าจะเก็บภารกิจบวกสำรวจทุกอาณาจักรต้องมี 50 ชั่วโมง+ ตอนนี้ผู้เขียนเองเล่นไป 36 ชั่วโมงยังเก็บได้ไม่ถึงครึ่งเลย นอกจากนี้ยังมีภารกิจที่จะปลดล็อคหลังจบเนื้อเรื่องอีกเพียบเลย ไม่ใช่ว่าจบเนื้อเรื่องแล้วมาตามไล่เก็บภารกิจย่อยที่ยังไม่ได้ทำอย่างเดียวเรียกได้ว่าทางผู้พัฒนาได้คิดคอนเทนต์ในส่วน End Game มาแล้วด้วย เล่นกันยาว ๆ แน่นอน
พูดถึงความใหญ่ของเกมไปแล้วสิ่งที่จะทำให้เติมเต็มคือเหล่าศัตรูสุดอันตรายไม่ว่าจะเป็นอสุรกาย และเหล่าเทพเจ้านอร์สอีกมากมายคือตัวเกมเพลย์แอ็คชั่นเยอะจนไม่มีที่เว้นว่างให้หายใจเลย เดินไปสักหน่อยเจอศัตรูแล้วพอเจอบอสย่อยสักพักเจออีก สมกับที่ทางผู้พัฒนาออกมาบอกว่ารอบนี้จัดศัตรูให้เพียบ และที่สำคัญบอสย่อยพวกนี้ไม่ได้ขี้หมูขี้หมานะ ทำเอาผู้เขียนหัวร้อนได้เหมือนกัน บอสแต่ละตัวก็จะมีลักษณะการโจมตีแตกต่างกันทำให้ผู้เล่นเองต้องเปลี่ยนกลยุทธ์สไตล์การเล่นและอาวุธให้เหมาะสมกับศัตรู ความสนุกมันอยู่ตรงนี้แหละทำให้ไม่เบื่อเพราะเราไม่สามารถใช้ทักษะเดิม ๆ ได้ แล้วไม่ต้องกลัวจะได้เจอแต่วัลคีรี่สุดหินในภาคแรก…เพราะว่ามีโหดกว่าวัลคีรี่แล้วหัวร้อนโคตร
ในด้านการต่อสู้ สำหรับเราในฐานะเครโทสและมีอเทรอัสร่วมด้วยนั้น ในภาคนี้ให้ความรู้สึกต่างจากภาคแรก มีสมดุลมากขึ้นไม่ได้เอียงเอนไปทางเครโทสหรืออเทรอัสมากไป ความที่ว่าอเทรอัสโตขึ้นและมีประสบการณ์ในการต่อสู้มากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ได้รู้สึกว่าเขาช่วยอะไรไม่ได้มากเหมือนภาคแรก แน่นอนครับว่ามีเซอร์ไพร์สซ่อนอยู่เพียบเลยแหละ เอาไว้คุณไปหาคำตอบเอาเองนะ แต่ผู้เขียนรับรองว่าการต่อสู้ในเกมภาคนี้มันไม่เหมือนกับภาคก่อนแน่นอน
โดยรวมเกมเพลย์ลงตัวและออกแบบมาโดยคิดมาแล้วอย่างรอบคอบทั้งตัวเกมกึ่งโอเพ่นเวิลด์ อัดแน่นด้วยคอนเทนต์ศัตรูและภารกิจมากมาย ใช้สูตรสำเร็จกลไกจากภาคแรก พร้อมต่อยอดให้มันทันสมัยดีขึ้นและปรับความสมดุลให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกครั้งไม่รู้จะติอะไรจริง ๆ
กราฟิกและประสิทธิภาพ
ทางผู้พัฒนาได้เคยกล่าวว่า God of War Ragnarök พัฒนาขึ้นมาเพื่อ PS5 โดยเฉพาะแต่ก็วางจำหน่ายบน PS4 ด้วยเหตุผลที่เรารู้ ๆ กันอยู่ ถึงกระนั่นแล้วงานภาพทำออกได้สวยงามมากโดยเฉพาะสีสันสดใสและระบบแสงสว่างในเกมก็ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น อาณาจักรแต่ละที่ก็มีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างกันออกไป รายละเอียดบริเวณใบหน้าตัวละครมีความละเอียดมากขึ้น ทั้งเส้นผมและแววตา
แต่ถ้าถามว่ามันดึงศักยภาพ PS5 ออกมาหมดไหมผมว่ายังไม่สุดเพราะอาจะมีข้อจำกัดที่ต้องลงให้ PS4 ด้วย ดังนั้นเทกเจอร์หรือพื้นผิวบางส่วนยังไม่ได้ละเอียดมากนัก บางฉากมีการใช้เทคนิคเบลอเข้ามาช่วยเล็กน้อย แต่โดยรวมยังถือว่างานภาพก้าวกระโดดจากภาคแรกมาก ข้อเสียอย่างเดียวคือในเดย์วันยังไม่มีโหมดถ่ายภาพต้องรอไปก่อน ซึ่งน่าเสียดายมากไม่ว่าจะระหว่างฉากคัตซีน หรือในฉากเกมเพลย์มีมุมและฉากสวย ๆ น่าถ่ายรูปเพียบ
แม้งานภาพจะไม่สุดเสียทีเดียว แต่ถ้าพูดถึงประสิทธิภาพผมยกให้เกมนี้เป็นเกมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดบน PS5 เลยก็ว่าได้ อย่างแรกเลยเกมไม่มีหน้าโหลดครับ เมื่อผ่านการโหลดเข้าเกมครั้งแรกที่ใช้เวลาเพียงแปบเดียวเท่านั้น เมื่อถึงเกมเพลย์แล้วมันจะไม่มีหน้าโหลดเลย หากคุณตายเพียงแค่กด X ก็พร้อมลุยต่อเลย ต้องขอบคุณความสามารถ SSD ของ PS5 ทำให้ฉากเกมเพลย์และคัตซีน “ไร้รอยต่อ” ไม่มีหน้าโหลดขัดจังหวะอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ผู้พัฒนาจึงนำมาใช้ประโยชน์ในการใส่ลูกเล่นให้ผู้เล่นได้ตอบสนองบางแอ็คชั่นช่วงคัตซีนมากขึ้นกว่าภาคแรกมาก ๆ ความรู้สึกเหมือน “Long Take” ม้วนเดียวจบ บางทีเดินอยู่เกมตัดเข้าฉากคัตซีนไม่รู้ตัวจนนิ้วบนจอยยังกดเดินอยู่เลย 55555
แน่นอนและส่วนอื่นก็ใช้ประโยชน์จาก DualSense เช่นการ Haptic feedback และ Adaptive Trigger ในส่วนของ Adaptive Trigger อาจจะไม่ได้นำมาใช้ไม่มากนัก และเสียง 3D คมชัดรู้ทุกฝีเท้าของศัตรู นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้คือระบบการเข้าถึงเพื่อให้เกมสามารถเข้าถึงผู้เล่นได้มากขึ้นส่วนนี้ต้องชื่นชมมาก ๆ
ทางด้านประสิทธิภาพด้านเฟรมเรตและความละเอียดของเกมต้องถูกใจฮาร์ดคอเกมเมอร์แน่นอนเพราะมีให้เลือกปรับถึง 4 โหมดได้แก่
- เน้นประสิทธิภาพ – เฟรมเรตล็อคไว้ที่ 60 FPS แสดงผลแบบ Full HD (1080p) นี่จะเป็นค่าเริ่มต้น
- เน้นความละเอียด – เฟรมเรตล็อคไว้ที่ 30 FPS แต่จะแสดงผลแบบ Full 4K
- เน้นความละเอียด (เพิ่มเฟรมเรตให้สูงขึ้น) – เกมจะยังคงแสดงผล Full 4K แต่จะได้เฟรมเรตสูงขึ้นที่ 40 FPS ทั้งนี้ทีวีต้องรองรับ HDMI 2.1
- เน้นประสิทธิภาพ (เพิ่มเฟรมเรตให้สูงขึ้น) – เกม แสดงผลแบบ Full HD (1080p) แต่ไม่มีการล็อคเฟรมเรตและวิ่งสูงสุดได้ถึง 120 FPS ทั้งนี้ทีวีต้องรองรับ HDMI 2.1
จากการทดลอง 2 โหมดแรกสามารถปรับได้ทันที แต่ตัวเมนูตั้งค่าในเกมจะไม่ได้ระบุโหมด 3 และ 4 เอาไว้นะ แต่มันคือการเลือกโหมดกราฟิกเน้นประสิทธิภาพ หรือ เน้นความละเอียด บวกกับเมนูที่ชื่อ “โหมดเฟรมเรตสูง” โดยโหมดนี้จะอนุญาตให้เปิดได้ต่อเมื่อทีวีรองรับ HDMI 2.1 เท่านั้นครับ ส่วนทีวีผู้เขียนตอนนี้ยังไม่รองรับเศร้าไป อย่างไรก็ตามผู้เขียนลองในโหมดเน้นความละเอียดบอกได้คำเดียวว่าลื่นมาก ไม่มีเฟรมเรตตก ไม่มีกระตุกใด ๆ แม้จะเจอฉากที่ศัตรูรุมเข้ามา มีเอ็ฟเฟ็กต์กระจุยกระจายเครื่องก็ยังรับมือได้ดี แล้วที่สำคัญพัดลมยังเงียบมาก ๆ ไม่ได้ยินเสียงแม้แต่น้อยครับ ส่วนหากใครเล่นบน PS4 รุ่น “PRO” จะมีโหมดกราฟิก 2 โหมดดังนี้
- เน้นประสิทธิภาพ – เฟรมเรตถูกปลดล็อคสามารถรั้นได้ตั้งแต่ 30 FPS ขึ้นไป แสดงผลได้ตั้งแต่ 1080p ถึง 1656p ขึ้นอยู่กับอัตราเฟรมในตอนนั้น
- เน้นความละเอียด – เฟรมเรตล็อคไว้ที่ 30 FPS แต่จะแสดงผลได้ตั้งแต่ 1440p ถึง 1656p ขึ้นอยู่กับอัตราเฟรมในตอนนั้น
- มาตราฐาน – ตั้งเป้าเฟรมเรตที่ 30FPS บนความละเอียด 1080p ขึ้นอยู่กับอัตราเฟรมในตอนนั้น
จากที่ทดสอบบน PS4 อย่างที่คาดไว้คือพัดลมดังมาก และบางจุดมีเฟรมเรตตกลงเล็กน้อย ถามว่าพอไปไหวไหมก็พอไปได้แต่แค่มันทำให้อารมณ์ไม่สุด
Verdict
God of War Ragnarök สามารถนำสูตรสำเร็จจากเกมภาคแรกต่อยอดนำเสนอออกมาได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการวางโครงเรื่องและดำเนินเรื่องออกมาได้เข้มข้น สื่อเข้าถึงความรู้สึกตัวละครทุกตัวในเกม ผูกปมปริศนาไว้เพียบ แต่ท้ายสุดก็สามารถคลี่คลายปริศนาคำตอบทั้งหมดและจบสิ้นดังที่ทางผู้พัฒนาตั้งใจไว้ ทางด้านเกมเพลย์ก็มีการต่อยอดมากกว่าภาคเก่ามาก นำเสนอสไตล์การเล่นที่หลากหลาย ต้องใช้ความคิดและเทคนิคในการต่อสู้กับศัตรูมากมายหลายประเภทรอให้ผู้เล่นมาท้าประลอง ประกอบด้วยพื้นที่เปิดในหลากหลายอาณาจักรรอให้ผู้เล่นได้ไปสำรวจ ทั้งหมดนี้แสดงผลออกมาบนกราฟิกอันสวยงามตามมาตรฐานของโซนี่ ขณะเดียวกันเกมรันด้วยประสิทธิภาพที่ดีมากและบอกลาหน้าโหลดได้เลย ผู้เขียนกล้าพูดได้เลยว่า God of War Ragnarök จะต้องคว้า Game of the Year ในปีนี้ได้อย่างแน่นอนแบบไม่ต้องสงสัยเลย ไร้ที่ติสุดยอดจริง ๆ ไม่ใช่แค่ใครเป็นแฟนซีรี่ส์นี้ไม่ควรพลาด แต่เจ้าของ PlayStation ทุกคนควรสัมผัสเกมนี้อย่างยิ่งแบบ MUST HAVE!! แค่นี้ครับแล้วเจอกันในมิดการ์ดนะทุกคนสวัสดีครับ
11/10 (ขอให้เกินดีไม่ไหว~)
จุดเด่น (Pro)
- เรื่องราวโคตรสุดยอดมีปมปริศนามากมาย สื่ออารมณ์ตัวละครออกมาได้ประทับใจ และไม่อาจจะคาดเดาได้
- เกมเพลย์เดิมแต่ต่อยอดให้ดีเยี่ยมกว่าเดิม นำเสนอสไตล์การเล่นใหม่ ๆ อาวุธใหม่ และเซอร์ไพรส์ซ่อนอยู่
- โลกในเกมกว้างขว้างมาก ๆ มีภารกิจมากกว่าภาคแรกเกิน 2 เท่า แม้จบเนื้อเรื่องหลักยังมีภารกิจให้ทำเพียบ
- กราฟิกนำเสนอได้สวยงามตามมาตรฐาน 1st Party ของโซนี่ ประสิทธิภาพ Optimize มาเป็นอย่างดี
จุดสังเกต (Con)
- เสียดายไม่มีโหมดถ่ายรูปใน Day One แต่จะมีอัปเดตปล่อยตามมา
บั๊คภาษาไทยประโยคผิดตำแหน่ง ตัวอักษรตกประโยค หวังว่าจะแก้ไขเสร็จใน Day Oneได้รับการแก้ไขใน Day One Patch
รีวิวและเขียนบทความโดย ภัคพล บัวโทน (GuidePS4EXPErt)
ขอบคุณบริษัท PlayStation Asia
สำหรับแผ่นเกมส์ที่ให้เรามารีวีวครับ